views

สิทธิในการอุทธรณ์ภาษีอากร

สิทธิในการอุทธรณ์ภาษีอากร
เมื่อเราถูกเจ้าพนักงานประเมิน ประเมินภาษีอากรว่าไม่ถูกต้อง เราสามารถใช้สิทธิคัดค้านการประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้

แบบคำอุทธรณ์ที่อธิบดีกำหนด
- แบบคำอุทธรณ์ (ภ.ส.6) ใช้ได้กับการอุทธรณ์ทุกกรณี
- แบบคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีอากร (กศก.171) ใช้เฉพาะการอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินกรมศุลกากร โดยผู้ถูกประเมินภาษีจะยื่นคำอุทธรณ์ที่กรมสรรพากร หรือกรมศุลกากรก็ได้

หลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์มีอะไรบ้าง?
1.หนังสือแจ้งการประเมินหรือแบบคำสั่งให้ชำระภาษีอากรฉบับที่ต้องการคัดค้านการประเมิน โดยเป็นต้นฉบับหรือภาพถ่ายที่รับรองสำเนาถูกต้อง
2.ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถูกประเมินภาษี
กรณีเป็นนิติบุคคล
- ให้แนบหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์
- ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการพร้อมประทับตรานิติบุคคลกำกับการลงชื่อของผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล
กรณีมิได้มายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง
- ถ้ากระทำการครั้งเดียว ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจกระทำการโดยปิดอากรแสตมป์ 10 บาท
- ถ้ากระทำการมากกว่าหนึ่งครั้งปิดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อรับรองว่าสำเนาถูกต้อง
3.ภาพถ่ายทะเบียนบ้าน
4.หลักฐานอื่นๆ ที่ได้อ้างประกอบคำอุทธรณ์ เช่น ภ.พ.20 ,หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09), รายงานภาษีซื้อ-ขาย ,สำหรับเดือนภาษีที่ถูกประเมิน ,ใบกำกับภาษี ฯลฯ

ผู้ถูกประเมินภาษีอากรสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อใคร?
ในเขตกรุงเทพมหานคร
ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย
- อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน
- ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด
- ผู้แทนกรมการปกครอง
ในต่างจังหวัด
ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย
- ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน
- สรรพากรภาคหรือผู้แทน
- อัยการจังหวัดหรือผู้แทน

ผลการพิจารณาอุทธรณ์เป็นอย่างไร?
เมื่อผู้อุทธรณ์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาและวินิจฉัยข้อโต้แย้งตามคำอุทธรณ์นั้น เมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) ให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์ดังนี้
1.ให้ปลดภาษี
เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องในกรณีนี้ผู้อุทธรณ์ไม่ต้องเสียภาษีตามการประเมิน
2.ให้ลดภาษี
เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการประเมินบางส่วนถูกต้องและบางส่วนไม่ถูกต้อง จึงปรับปรุงจำนวนภาษีให้คงเหลือเท่าที่ผู้อุทธรณ์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
3.ให้ยกอุทธรณ์
เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการประเมินถูกต้องแล้วซึ่งผู้อุทธรณ์ต้องเสียภาษีตามการประเมิน
4.ให้เพิ่มภาษี
เนื่องจากได้พิจารณาประเด็นการประเมินและข้อโต้แย้งของผู้อุทธรณ์แล้ว ปรากฏว่าการประเมินถูกต้องแต่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีคลาดเคลื่อนต่ำไป คณะกรรมการฯ อาจปรับปรุงการคำนวณภาษีและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์เสียภาษีเพิ่มขึ้นได้

หากผู้อุทธรณ์ยังไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์  มีสิทธิยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้อีกด้วย






9 ก.พ. 2564
by KKN การบัญชี

- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- อาจารย์พิเศษให้กับสถาบันของรัฐและเอกชน


บทความที่น่าสนใจ