เช่าซื้อ : คือการซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระ เมื่อผ่อนชำระหนี้ครบตามสัญญารถยนต์จะเป็นของบริษัททันที
ลีสซิ่ง : คือการเช่ารถยนต์ โดยในสัญญาเช่าจะมีออฟชั่นพิเศษสามารถซื้อรถยนต์ได้ในราคาพิเศษ (ผู้เช่าจะตัดสินใจซื้อ หรือไม่ซื้อก็ได้)
ในโลกของภาษีแบ่งรถยนต์ออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
รถยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถกระบะ รถบรรทุก พวกนี้เวลาซื้อขอคืนภาษีซื้อได้ และไม่มีเพดานเรื่องของการหักค่าใช้จ่าย
รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน เช่น รถเก๋ง รถสปอร์ต รถเอสยูวี รถตู้ที่มีที่นั่งไม่เกิน10ที่นั่ง เวลาซื้อรถยนต์ไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่าย สามารถหักค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น โดยหักค่าเสื่อมราคาต่อปีสูงสุดได้ปีละ 200,000 บาท โดยจะต้องแบ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 5 ปี
หมายความว่าถ้าซื้อรถยนต์แบบเช่าซื้อราคา 3 ล้านบาท ก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสูงสุดได้แค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นเวลาที่เราซื้อรถหรูที่ราคาเกิน 1 ล้านบาท เราก็จะรู้สึกขาดทุนที่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเกิดการซื้อรถยนต์แบบลีสซิ่งขึ้นมา
ลีสซิ่งถือเป็นการเช่า กรมสรรพากรได้กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่งให้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ไม่เกิน 1,200 บาทต่อวัน (หรือ 36,000 บาทต่อเดือน หรือ 432,000 บาทต่อปี)
ถ้าเปรียบเทียบด้านภาษีกรณีซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่งจะพบว่าเช่าซื้อหักค่าใช้จ่ายได้มากสุด 200,000 บาทต่อปี ในขณะที่ลีสซิ่งหักค่าใช้จ่ายได้มากสุด 432,000 บาท ดังนั้นการซื้อรถยนต์หรูๆ ซื้อแบบลีสซิ่งจะประหยัดภาษีกว่า นอกจากนี้เมื่อหมดสัญญาลีสซิ่งแล้วผู้ประกอบการตัดสินใจซื้อรถยนต์ก็ยังนำรถยนต์ที่ซื้อมาหักค่าเสือมราคาได้อีกด้วย
สิ่งที่ต้องระวัง: การซื้อรถแบบลีสซิ่งเราจะพบกว่าดอกเบี้ยแพงกว่าเช่าซื้อเสมอ ดังนั้นก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจว่าจะซื้อรถยนต์แบบไหนจะต้องคำนวณความคุ้มค่าระหว่างเงินที่จ่ายเพิ่มขึ้น กับภาษีที่ประหยัดได้ด้วย
สำหรับท่านที่ซื้อรถเชิงพาณิชย์แอดมินแนะนำว่าซื้อแบบเช่าซื้อเถอะครับ เพราะไม่มีการจำกัดเพดานค่าใช้จ่าย และดอกเบี้ยถูกกว่าการซื้อแบบลีสซิ่งเยอะครับ
- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- อาจารย์พิเศษให้กับสถาบันของรัฐและเอกชน